ระบบไฮดรอลิกมีความสำคัญและมีการใช้อย่างแพร่หลายในงานอุตสาหกรรม ยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากระบบไฮดรลิกทำหน้าที่ในการถ่ายทอดพลังงานหรือกำลังงาน โดยการอัดแรงดันใส่ตัวกลางให้มีแรงดันสูง และนำแรงดันนั้นไปใช้ยังจุดที่ต้องการ
ระบบไฮดรอลิกจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยตัวกลางในการส่งกำลังหรือส่งแรงดันไปยังจุดที่ต้องการใช้กำลังนั้น ซึ่งตัวกลางในการส่งแรงที่ว่านี้ก็คือ “น้ำมันไฮดรอลิก” นั่นเอง
หากจะให้กล่าวถึงการทำงานของระบบไฮดรอลิกอย่างง่าย ก็จะขออธิบายด้วยวงจรการเดินทางของน้ำมันไฮดรอลิกใน 1 วงรอบ ดังนี้
อ่างน้ำมัน ⇒⇒ Filter ⇒⇒ Pump ⇒⇒ Control Valve ⇒⇒ Hydraulic Cylinder ⇒⇔ Return line filter ⇒⇒ อ่างน้ำมัน
จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวงจรเกิดที่ “อ่างน้ำมัน” โดยจุดนี้เป็นจุดพักที่น้ำมันจะทำการคลายความร้อนที่น้ำมันนำพาออกมาจากระบบไฮดรอลิก ในขณะเดียวกันอ่างน้ำมันยังเป็นจุดพักให้น้ำมันได้สลายฟองอากาศที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่อีกด้วย ซึ่งน้ำมันไฮดรอลิกที่มีอุณหภูมิต่ำลงและไม่มีฟองอากาศแล้วจะถูกดูดกลับเข้าสู่ระบบไฮดรอลิกต่อไป
Filter และ Return line filter เพื่อให้น้ำมันไฮดรอลิกที่ถูกดูดไปใช้ในระบบมีความสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน จึงได้มีการติดตั้งตัวกรองหรือ filter เพื่อดักจับสิ่งสกปรกหรือเศษโลหะที่อาจปะปนในน้ำมันไฮดรอลิก ซึ่งหากสิ่งไม่พึงประสงค์นี้หลุดเข้าไปสู่ระบบอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์ภายในได้
Pump ปั๊มหรืออุปกรณ์เพิ่มแรงดันถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่สุดในระบบไฮดรอลิก เนื่องจากปั๊มคือตัวสร้างแรงดันให้กับน้ำมันในระบบ ซึ่งในจุดนี้จะเกิดการเสียดสีและมีอุณหภูมิสูง ดังนั้นการเลือกใช้น้ำมันไฮดรอลิกให้เหมาะสมกับชนิดของ pump จึงมีความสำคัญมาก
Control Valve น้ำมันที่ถูกเพิ่มแรงดันแล้วจะถูกส่งมายังวาล์วเพื่อทำการปรับระดับแรงดันให้มีความดันที่เหมาะสม นอกจากนั้นวาล์วยังทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางของน้ำมันที่จะถูกส่งไปใช้ยังจุดต่างๆด้วย
Hydraulic Cylinder หากจุดเริ่มต้นการเดินทางของน้ำมันไฮดรอลิกเริ่มจากอ่างน้ำมัน “กระบอกไฮดรอลิก” ก็คงถือเป็นจุดสิ้นสุดหรือเป็นเส้นชัยของการเดินทางก็ว่าได้ เนื่องจากที่จุดๆนี้เป็นจุดที่เครื่องจักรเกิดการนำแรงดันจากน้ำมันไฮดรอลิกไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการ กด อัด ตัด หรือการยก เมื่อแรงดันจากน้ำมันไฮดรอลิกถูกใช้ไปแล้ว น้ำมันก็จะถูกส่งกลับไปยังจุดเริ่มต้นเพื่อเริ่มกระบวนการวนซ้ำต่อไปนั่นเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าน้ำมันไฮดรอลิกมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดกำลัง แต่นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้วน้ำมันไฮดรอลิกยังมีหน้าที่ในการขจัดและนำพาสิ่งสกปรกออกจากระบบไฮดรอลิก อีกทั้งในส่วนที่เกิดการเสียดสีอย่างเช่นกระบอกสูบ หรือปั๊มไฮดรอลิก น้ำมันยังสามารถทำหน้าที่ในการลดแรงเสียดทานและลดการสึกหรอของอุปกรณ์ต่างๆได้อีกด้วย